วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

ห้องสมุดประชาชนหลังปฏิรูปการศึกษาจะเป็นอย่างไร

ห้องสมุดประชาชนหลังปฏิรูปการศึกษาจะเป็นอย่างไร

กุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานชมรมห้องสมุดประชาชน

เป็นที่ทราบกันว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 25ได้กำหนดให้ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นเดียวกับ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะสวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เป็นการปรับเปลี่ยนสถานภาพจากเดิมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษาสังกัดกศน. ทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานห้องสมุดประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกกังวลใจ และไม่แน่ใจว่าสถานภาพของตนเองจะดีขึ้น หรือเหมือนเดิมหรือแย่กว่าที่เป็นอยู่ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาได้พยายามย้ำเสมอว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคลากรคือไม่ให้ข้าราชการเสียประโยชน์ เมื่อเดือนเมษายน 2542 ที่ผ่านมา สปศ.ได้จัดทำรายงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเรียกว่า “พิมพ์เขียว”เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตาม บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542เป็นรายละเอียดบรรจุอยู่ในเอกสารมากกว่า 10 เล่ม มีความหนาไม่น้อยกว่า 2,000 หน้าจากเอกสารดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดประชาชนและบุคลากรของห้องสมุดปรากฎอยู่ในเอกสารภาคผนวกเล่มที่ 1โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ……..”ถือเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีความสำคัญมากที่สุดฉบับหนึ่งที่ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อตราขึ้นใช้บังคับ ซึ่งมีสาระสำคัญที่สามารถระบุถึงสถานภาพของห้องสมุดประชาชนและบุคลากรได้ในเบื้องต้นคือสถานภาพของห้องสมุดประชาชน
- ตามความในมาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ระบุให้ “หน่วยงานการศึกษา”หมายความว่า(1) สถานศึกษา (2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (3) แหล่งการเรียนรู้ (4) หน่วยงานประเภทต่างๆ ตามประกาศกระทรวง และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 25 กำหนดให้ ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ ดังนั้นห้องสมุดประชาชนจึงมีสถานภาพเป็นหน่วยงานการศึกษา
- ห้องสมุดประชาชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
- ห้องสมุดประชาชนมีอำนาจในการบริหารงบประมาณบริหารวิชาการบริหารบุคลากร และบริหารทั่วไป เช่นเดียวกับสถานศึกษา
- การบริหารจัดการและการดำเนินงานห้องสมุดประชาชน จำเป็นต้องมีคณะกรรมการห้องสมุดประชาชนเช่นเดียวกับคณะกรรมการสถานศึกษา
สถานภาพของบุคลากรห้องสมุดประชาชน
- ตามหลักการที่ให้ข้าราชการกระทรวงการศึกษาฯ ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่ลงไปเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมด ดังนั้นบรรณารักษ์ และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจึงต้องเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการพลเรือนมาเป็นข้าราชการภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา
- บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดมีตำแหน่งเป็น “บุคลากรทางการศึกษา” ในฐานะผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน
- บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ในเบื้องต้นกฎหมายกำหนดให้ผู้บริหาร ครู และศึกษานิเทศก์เท่านั้นที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ
- การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ค.ศ. โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตำแหน่ง และการรับเงินเดือนของข้าราชการ พลเรือนสามัญมาใช้บังคับโดยอนุโลม
- บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษา
บทบาทภารกิจของห้องสมุดประชาชน กล่าวโดยสรุป ห้องสมุดประชาชนในอนาคตจะมีสถานภาพเป็น “หน่วยงานการศึกษาทำหน้าที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ซึ่งถือเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษา จึงขอเสนอบทบาทภารกิจที่ห้องสมุดประชาชนควรดำเนินการ ดังต่อไปนี้คือ การวิเคราะห์ความต้องการ เป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ และการจัดองค์ประกอบการเรียนรู้การวิเคราะห์ความต้องการควรดำเนินการให้ครอบคลุม คือ
1. การวิเคราะห์ผู้เรียน หรือผู้รับบริการ เพื่อต้องการทราบถึง วัตถุประสงค์การเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ ความสามารถในการเรียนรู้ ความต้องการการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ของผู้รับบริการ
2. การวิเคราะห์ชุมชน หมายถึง การศึกษาข้อมูลชุมชนที่นำมาใช้ประโยชน์ต่อกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างแท้จริง การพัฒนาองค์ประกอบการเรียนรู้ ได้แก่
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากสื่อที่หลากหลายทั้งสื่อท้องถิ่นและสื่อสากล รวมทั้งสื่อเทคโนโลยี
2. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยผู้รู้
3. การพัฒนาเนื้อหาองค์ความรู้ที่เป็นเนื้อหาเฉพาะในท้องถิ่น ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น
4. จัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และเหมาะสมกับคุณลักษณะของผู้รับบริการ
5. จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยระบบเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งลักษณะเชื่อมประสาน แลกเปลี่ยนและส่งต่อการบริการ
6. พัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนหรือผู้รับบริการตั้งแต่ทักษะขั้นพื้นฐาน การอ่าน การเขียน การทำความเข้าใจเนื้อหา รวมทั้งความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ การจัดการและระบบส่งเสริมการเรียนรู้ ควรให้ความสำคัญใน 3 ประการ คือ
1. รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลาหลาย ทั้งภายในและภายนอก ห้องสมุด
2. ระบบบริการประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถตรวจสอบผลสำเร็จของการเรียนรู้ และสามารถนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ได้ตามความประสงค์
3. บริการเทียบโอนความรู้ เพื่อสิทธิในการใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ไปสู่ระบบการยอมรับความรู้ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่เสนอแนะให้บุคลากรของห้องสมุดประชาชนได้พิจารณา เพื่อเป็นการตรวจสอบภารกิจเดิมที่ทำอยู่ และเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาห้องสมุดประชาชนไปสู่บทบาทที่พึงประสงค์ ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

ข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาสถานภาพห้องสมุด และบุคลากรเพื่อตอบสนองบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
สืบเนื่องจากสาระบัญญัติใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดให้ระบบการศึกษา มี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้จัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบผสมผสานกันถ่ายโอนกันได้ และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้ห้องสมุดจึงถือเป็นกลไกสำคัญของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะเป็นศูนย์รวมที่มีทรัพยากรและองค์ประกอบการเรียนรู้ที่ หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายได้ทุกประเภท ตามเจตนารมณ์ของปรัชญา“ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้น บุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องสมุดจึงต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะสูงยิ่งต่อการบริหารจัดการทรัพยากร และองค์ประกอบการเรียนรู้เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ห้องสมุดทุกประเภทสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และบรรลุวัตถุประสงค์ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา เห็นควรพัฒนาสถานภาพห้องสมุดและบุคลากรดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาสถานภาพบุคลากรห้องสมุด
1.1 กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ให้บทบาทหน้าที่ของบรรณารักษ์เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในความหมายเดียวกันกับ“ครูผู้สอน”
1.2 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรห้องสมุดทุกประเภทให้มีความรู้ทักษะที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดในฐานะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ รูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัย
1.3 กำหนดให้บรรณารักษ์เป็นวิชาชีพในมาตรฐานเดียวกับผู้สอนและผู้บริหาร โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพบรรณารักษ์สามารถมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและได้รับสิทธิผลตอบแทนในหลักเกณฑ์เดียวกัน
2. การพัฒนาสถานภาพห้องสมุด
2.1 พัฒนาห้องสมุดทุกประเภทให้มีบทบาท ภารกิจ เป็น Learning Center มากกว่าเป็น Service Center เพื่อเป็นกลไกสำคัญของ กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง
2.2 ปรับเปลี่ยนสถานภาพของสมาชิกและผู้ใช้บริการห้องสมุดเป็น “ผู้เรียน”
2.3 ปรับปรุงสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ เหมาะสมต่อบทบาท ภารกิจ และหลักการจัดการศึกษาที่ห้องสมุดจะสามารถเป็นศูนย์กลางการ เรียนรู้ในรูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัย
2.4 ยอมรับให้องค์กรวิชาชีพ “สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย” มีหน้าที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐาน และดำเนินการเกี่ยวกับการประกันคุณภาพห้องสมุด ทุกประเภทรวมทั้งการอนุญาตใบประกอบวิชาชีพบรรณารักษ์ ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นมิได้เป็นการเรียกร้องในสิ่งที่เกินความน่าจะเป็นตรงกันข้ามข้อเสนอนี้เป็นเพียงความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ต้องพัฒนาเป็นอันดับแรกเท่านั้น